• 24 พฤศจิกายน 2020 at 11:42

RSV

ไวรัสอันตรายในหมู่เด็กเล็ก

กรณีของเด็กเล็กๆ หรือผู้ใหญ่ที่มีปัญหาโรคหัวใจหรือโรคทางเดินหายใจอยู่ก่อนแล้ว และมาพบแพทย์ล่าช้าเกินไป ก็มีโอกาสเสียชีวิตจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านและแฟนๆ UNSEEN DOCTOR ที่เคารพรักยิ่งทุกๆ ท่าน ฤดูหนาวปลายปีอย่างนี้เป็นช่วงที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตและแพร่เชื้อของโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มจำนวนมากกว่าในฤดูกาลอื่น และที่จะละเลยเสียไม่ได้ก็คือเชื้อไวรัส RSV

ไวรัส RSV(Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสที่ถูกค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ.2498 จากลิงชิมแปนซีที่ป่วยและสามารถติดต่อมายังคนได้ โดยเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจได้ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง  โดยจะเป็นอันตรายต่อเด็กเล็กซึ่งจะมีอาการหนักกว่าผู้ใหญ่คืออาจจะถึงขั้นเสียชีวิต โดยที่แม้จะเป็นไวรัสที่ค้นพบมานานแล้วแต่เพิ่งจะมาตื่นตัวกันมากในระยะหลังๆ ก็เนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่สามารถแยกและระบุสาเหตุของการเจ็บป่วยได้แม่นยำถูกต้องกว่าในอดีต ตลอดจนปัจจุบันมีช่องทางการแพร่กระจายข่าวสารที่หลากหลายและรวดเร็วขึ้นกว่าในอดีตนั่นเอง

อาการของผู้ป่วยติดเชื้อ RSV ซึ่งจะมีระยะฟักตัวของโรคอยู่ที่ประมาณ 5 วัน ได้แก่ในช่วง 2-4 วันแรก มักจะมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา มีไข้ น้ำมูกไหล ไอจาม ปวดศีรษะ  โดยในผู้ใหญ่ที่ได้รับเชื้อมักจะไม่แสดงอาการอะไร หรือมีอาการเล็กน้อยเหมือนหวัดธรรมดา อาจมีไข้เล็กน้อย และหายจากโรคได้เองเนื่องจากระบบภูมิต้านทานของร่างกายสามารถจัดการกับเชื้อ RVS ได้ แต่ในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ การดำเนินโรคมักจะมากขึ้นส่งผลต่อทางเดินหายใจส่วนล่าง เกิดพยาธิสภาพในส่วนของหลอดลมเล็ก (bronchiole) และถุงลม (alveoli) ทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจ เกิดการอักเสบของหลอดลม กล่องเสียงอักเสบ มีไข้สูง ไอแรงหรือไอจนอาเจียน หายใจหอบเหนื่อย มีเสมหะในลำคอมาก หายใจครืดคราด หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงหวีด(wheezing) และอาจติดเชื้อแบคทีเรียเพิ่ม เกิดอาการปอดอักเสบ ปอดบวม 

โดยในเด็กทารกถึง  2 ขวบ มักเริ่มจากอาการไข้ต่ำๆ มีน้ำมูก จาม 1 ถึง 3 วัน ต่อมาเริ่มมีอาการไอ หายใจเร็วขึ้น หายใจลำบาก บางรายมีการติดเชื้อของระบบหายใจส่วนล่าง ได้แก่ ภาวะหลอดลมฝอย หรือหลอดลมส่วนปลายอักเสบ (Bronchiolitis) หากเชื้อลุกลามไปที่ถุงลมจะเกิดภาวะปอดอักเสบได้ (Pneumonia)  ส่วนเด็กอายุ 2 ถึง 5 ปี นอกจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่างแล้ว ยังทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน และเกิดกลุ่มอาการ Croup (การอักเสบของกล่องเสียงและทางเดินหายใจส่วนบน) ได้ อาการหลักๆ คือจะมีไข้ขึ้นสูงมาก กินนมหรือกินอาหารได้น้อยลง ซึม หรืองอแง จามบ่อย ไอมากคล้ายเสียงหมาเห่า มีน้ำมูกใสๆ ตลอดเวลา มีเสมหะเป็นสีเขียวหรือสีเหลือง หายใจตื้นสั้นและถี่ หน้าอกบุ๋ม อาจหยุดหายใจเป็นช่วงๆ มีอาการขาดออกซิเจนเห็นปลายนิ้วปลายเล็บเป็นสีเขียว ถ้าไม่รีบนำตัวไปพบแพทย์ให้ทันต่อการณ์ก็มีโอกาสที่ระบบหายใจจะล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด

การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ RVS นั้น ทำโดยการรักษาประคับประคองตามอาการ เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษา กินยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาขับเสมหะ เช็ดตัวลดไข้ พักผ่อนให้ร่างกายได้พักฟื้นจากอาการไข้  การดำเนินโรคจะเป็นอยู่ 5-7 วัน บางรายในช่วง 1-2 วันแรกมีอาการไม่รุนแรง แต่ในช่วงวันที่ 3-5 ของโรคจะมีอาการรุนแรงมากสุด จากนั้นอาการจะทุเลาลงโดยถ้าอาการไม่ดีขึ้นในวันที่ 4 ให้เข้าพบแพทย์ทำการวินิจฉัยตรวจหาอาการแทรกซ้อนและรักษาตามอาการ ผู้ป่วยที่มีอาการหนักอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนด้วยไวรัสไข้หวัดใหญ่ เชื้อมัยโคพลาสมา หรือเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้การรักษาตามความเหมาะสม เช่นให้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน  ให้ยาขยายหลอดลม พ่นยา ดูดเสมหะ กรณีที่มีเสมหะมาก ให้สารน้ำ ถ้าอาการหนัก เกิดภาวะขาดออกซิเจนก็ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการดีขึ้นภายใน 7-9 วัน ในเด็กบางรายแม้จะหายแล้วก็ยังอาจมีอาการไอต่อเนื่องไปเป็นเดือนได้  และทั้งนี้กรณีของเด็กเล็กๆ หรือผู้ใหญ่ที่มีปัญหาโรคหัวใจหรือโรคทางเดินหายใจอยู่ก่อนแล้ว และมาพบแพทย์ล่าช้าเกินไป ก็มีโอกาสเสียชีวิตจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้

เชื้อ RSV นั้น เป็นไวรัสที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกาย มีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมได้หลายชั่วโมง  ติดต่อจากผู้ป่วยไปยังอีกผู้หนึ่งได้โดยการสัมผัสโดยตรงจากสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ตลอดจากฝอยละอองจากการไอ จาม การป้องกันการติดเชื้อเชื้อ RSV จึงไม่ใช่เรื่องยาก โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่เพิ่งผ่านสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 มาหมาดๆ นั่นคือใช้มาตรการเดียวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ได้แก่ ล้างมือบ่อยๆ หรือให้เด็กเล็กรู้จักล้างมือให้สะอาดหลังจากไปสัมผัสจับต้องสิ่งต่างๆ แยกภาชนะของเด็กๆ ที่ต้องอยู่ร่วมกันออกจากกัน  สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากที่มีคุณสมบัติสะท้อนน้ำอยู่เสมอเมื่อต้องเข้าไปในชุมชนที่มีผู้คนพลุกพล่าน กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายให้ครบทั้ง 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้แก่ร่างกาย 

การให้ผู้อื่นมาทักทายหรือแสดงความรักด้วยการสัมผัสเด็กเล็กที่อยู่ในการปกครองของเราก็มีโอกาสจะได้รับเชื้อจากการสัมผัสนั้นๆ (ซึ่งยังจะหมายถึงเชื้อโรคหรือความสกปรกอื่นๆ อีกด้วยที่) ผู้ใหญ่ที่แข็งแรงไม่มีอาการเจ็บป่วยจากเชื้อ RSV นั้นมักจะเป็นผู้นำเชื้อมาติดเด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันน้อยกว่า และทั้งนี้ ผู้ป่วยติดเชื้อ RSV มีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้เมื่อร่างกายอ่อนแอภูมิต้านทานจากการติดเชื้อครั้งแรกไม่สามารถป้องกันได้ แต่ถ้าเป็นซ้ำ อาการจะไม่รุนแรงเท่ากับครั้งแรก

ภาพประกอบ : medlineplus.gov

 

 

 

 

 

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2