• 6 ตุลาคม 2020 at 10:52

COLON CANCER 

มะเร็งลำไส้ใหญ่ รู้ตัวก่อนก็รักษาหายขาดได้ 

...ระยะเริ่มแรก โรคมะเร็งยังอยู่ในเยื่อบุลำไส้

สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด อัตรา

การหายขาดร้อยละ 95...

 

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่เคารพรักทุกๆ ท่าน

เมื่อเดือนที่ผ่านมา แฟนๆ Marvel ต่างรู้สึกสะเทือนใจในการจากไปของ แชดวิก โบสแมน (Chadwick Boseman) หรือฝ่าบาททีชาล่า จากภาพยนตร์ PINK PANTHER ด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่(Colon cancer) เป็นหนึ่งในสามของชนิดมะเร็งที่คนไทยเป็นมากที่สุด โดยเป็นความผิดปกติของเซลส์เนื้อเยื่อบริเวณลำไส้ มีการแบ่งตัวและเพิ่มขนาดอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นติ่งหรือเนื้องอกขึ้นภายในลำไส้ และติ่งหรือเนื้องอกนั้นอาจกลายเป็นเซลส์มะเร็ง ซึ่งสามารถลุกลามไปยังชั้นกล้ามเนื้อ หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกายผ่านทางท่อน้ำเหลืองและหลอดเลือดได้

อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ เริ่มด้วยอาการที่ลำไส้ทำงานผิดปกติ ได้แก่น้ำหนักตัวที่ลดลงอย่างต่อเนื่องแม้กินอาหารตามปกติ อยากอาหารน้อยลง ไม่รู้สึกหิว ท้องผูกและท้องเสียสลับกันบ่อยครั้ง หรือท้องผูกเรื้อรัง คลื่นไส้ อาเจียนบ่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ ท้องอืด ท้องเฟ้อบ่อยพร้อมกับมีอาการปวดท้องช่วงล่าง อุจจาระมีลักษณะเล็กลง อาจมีเลือดปนออกมา ถ้าเลือดออกมากก็จะอ่อนเพลียหรือถึงขนาดช็อกได้ ถ้าก้อนมะเร็งอุดตันก็จะปวดท้องรุนแรงเป็นระยะและถ่ายไม่ออก โดยแบ่งตำแหน่งที่เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็น 3 ตำแหน่ง คือ

มะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ด้านขวา ผู้ป่วยมักจะปวดหน่วงๆ บริเวณท้องน้อยด้านขวา คลำพบก้อนเนื้อ ถ้ามีเลือดออกก็จะมีอาการอ่อนเพลีย โลหิตจาง มะเร็งบริเวณนี้มักไม่ทำให้มีอาการลำไส้อุดตัน 

มะเร็งลำไส้ใหญ่ด้านซ้าย มีการถ่ายอุจจาระที่ผิดปกติ ท้องผูก ปวดท้อง อาเจียนไม่ผายลม ก้อนเนื้อมะเร็งจะอุดตันหรือขวางทางอุจจาระ ถ้าถ่ายออกก็มักจะมีเลือดปนออกมาด้วย พบผู้ป่วยมะเร็งบริเวณลำไส้ใหญ่ด้านซ้ายราวหนึ่งในสามของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เช่นเดียวกับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้านขวา

มะเร็งบริเวณลำไส้ตรง ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดทวารหนักอย่างรุนแรง ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดและมักถ่ายไม่สุด อาจพบต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตพบก้อนเนื้อที่ไม่ใช่ริดสีดวงออกมาจากทวารหนัก พบประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ และพบว่าเป็นมะเร็งที่ทวารหนักร้อยละ1-2 ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่

สาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ผู้ที่อยู่ในความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี(พบถึงร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้) ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งอื่นๆ(การถ่ายทอดของยีนที่มีความปกติทางกรรมพันธุ์) ผู้ที่มีพฤติกรรมกินอาหารปนเปื้อน เนื้อแดง อาหารปิ้งย่างจนไหม้ดำ อาหารไขมันสูง อาหารที่มีเส้นใยไฟเบอร์น้อย ผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ รวมไปถึงผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน(Crohn’s disease) หรือผู้ที่ท้องผูกเรื้อรังจากความผิดปกติของลำไส้หรือระบบขับถ่ายอีกด้วย

การตรวจวินิจฉัย เริ่มจากการซักประวัติครอบครัว ประวัติส่วนตัว ตรวจร่างกายทั่วไป ตามด้วยการตรวจเฉพาะทาง ได้แก่ การใช้นิ้วตรวจทวารหนัก การตรวจหาเลือดในอุจจาระ(Fecal occult blood test: FOBT) ส่องกล้อง(ตรวจเฉพาะลำไส้ส่วนล่าง/ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด) การกลืนสีหรือแป้ง(Barium enema)เพื่อเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่ ทำ ซีที แสกน(CT scan:Computerized Tomography) และการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ เมื่อพบความผิดปกติ โดยจะแบ่งมะเร็งออกเป็น 4 ระยะ คือ 

ระยะที่ 1 ระยะเริ่มแรก โรคมะเร็งยังอยู่ในเยื่อบุลำไส้ สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด อัตราการหายขาดร้อยละ 95 ผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจต้องนำลำไส้มาเปิดขับถ่ายที่หน้าท้องเนื่องจากตัดทวารหนักออกไป

ระยะที่ 2 ระยะเริ่มลุกลาม มะเร็งทะลุเข้ามาในชั้นกล้ามเนื้อของลำไส้ และ/หรือทะลุถึงเยื่อหุ้มลำไส้ เนื้อเยื่อส่วนอื่นๆ หรืออวัยวะข้างเคียง ผ่าตัดมีโอกาสหายขาดร้อยละ 70 และถ้าทำคู่กับรักษาด้วยรังสี(Radiation therapy หรือ Radiotherapy) และเคมีบำบัด(chemotherapy)มีโอกาสหายขาดร้อยละ 80-90

ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง ต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกให้มากที่สุดและทำเคมีบำบัดป้องกันมะเร็งฟื้นตัวและลุกลาม มีโอกาสหายขาดร้อยละ 60

ระยะที่ 4 ระยะสุดท้าย มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไป หรือลุกลามตามกระแสโลหิตไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ปอด หรือกระดูก เป็นต้น รักษาด้วยการผ่าตัดอวัยวะบางส่วนที่เป็นมะเร็งออกร่วมกับการทำเคมีบำบัด ถ้าทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสหายขาดเท่ากับระยะที่ 3 หรือร้อยละ 60 ในผู้ป่วยรายที่ไม่สามารถผ่าตัดได้แม้จะไม่หายขาดแต่จะลดความทรมานจากมะเร็ง

ปัจจุบัน วิธีรักษาโรคมะเร็งพัฒนาไปมาก มีการนำยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted therapy)มาใช้ในระยะลุกลามอย่างได้ผลในผู้ป่วยบางรายอีกด้วย แต่ยังเป็นวิธีที่ค่าใช้จ่ายสูงมากจึงยังไม่แพร่หลายทั่วไป ทางที่ดีที่สุดคืออย่าเป็น และถ้าเป็นก็ต้องให้ตรวจพบแต่เนิ่นๆ เพื่อการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งหมายถึงโอกาสหายขาดคือร้อยทั้งร้อยนั่นเอง

ภาพประกอบ : Black Panther (Marvel Comics)

 

 

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2