• 2 กรกฎาคม 2020 at 10:53

MYSOPHOBIA 

กลัวเชื้อโรคจนเกินเหตุ 

 

...ซึ่งวิธีการพฤติกรรมบำบัดจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยเป็นอย่างมากด้วย ทั้งนี้ อาจต้องใช้ยาจำพวกยาแก้โรคซึมเศร้า ยาระงับอาการสั่น ยาลดความวิตกกังวล หรือให้ยาแก้โรคจิตเวชบางชนิดควบคู่ไปด้วยในการรักษา...สวัสดีครับท่านผู้อ่าน AUTOVISION & TRAVEL และ UNSEEN DOCTOR ที่เคารพรักทุกๆ ท่าน

Mysophobia : โรคกลัวเชื้อโรค เป็นภาวะโฟเบียชนิดหนึ่ง ที่อาจส่งผลกับชีวิตประจำวันได้ โดยภาวะของ Mysophobia ได้แก่ความรู้สึกกลัวเชื้อโรค กลัวความสกปรก กลัวความไม่สะอาดหรือการปนเปื้อนต่าง ๆ จนมีอาการผิดปกติไปจากผู้คนทั่ว ๆ ไป (ชื่อเรียกอื่น ๆ อีกด้วย เช่น Germaphobia, Bacillophobia, Bacteriophobia หรือVerminophobia) ซึ่งเจ้าตัวก็มักจะหลีกเลี่ยงความสกปรกหรือสิ่งไม่สะอาดตามความคิดของตนด้วยพฤติกรรมแยกตนเองออกมาให้ห่างไกล ทำให้พฤติกรรมในการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป และถ้าอาการหนักมากก็อาจทำให้ถึงขั้นเกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับผู้อื่นก็เป็นได้ 

สาเหตุของ Mysophobia อาจเกิดจากพฤติกรรมในครอบครัวของผู้ป่วย หรือผู้ป่วยมีปมกับการสัมผัสเชื้อโรคหรือความสกปรกมาก่อน หรือมีความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่ทำให้เกิดโฟเบีย (Phobia หรือ “โรคกลัว” จัดเป็นความผิดปกติทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ลักษณะที่สำคัญก็คือ ผู้ป่วยจะมีความกลัวที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ และไม่สมเหตุสมผลเมื่อได้เผชิญกับสิ่งหรือสถานการณ์ที่ผู้ป่วย) โดยอาการที่บ่งชี้ได้ว่าน่าจะอยู่ในภาวะ Mysophobia ได้แก่

1.มีอาการผิดปกติ เมื่อต้องอยู่ใกล้หรือสัมผัสกับสิ่งสกปรก เช่นควบคุมกิริยาไม่ได้หรือที่เรียกว่าเสียอาการ วิตกกังวลจนเบลอทำอะไรแบบซ้ำ ๆ ย้ำคิดย้ำทำ ตัวสั่น เหงื่อออกมาก คลื่นไส้อยากอาเจียน หน้ามืด เป็นลม เป็นต้น

2.ล้างมือบ่อยครั้ง ทั้งที่ไม่ได้ไปหยิบจับอะไรเลย หรือล้างมือในทันทีหลังจากไปสัมผัสกับสิ่งสกปรก ซึ่งจะแตกต่างจากคนทั่วไปตรงที่จะมีอาการวิตกกังวลแสดงออกมาถ้าหากว่าไม่ได้ล้างมืออย่างทันทีทันใดหลังจากไปหยิบจับสัมผัสอะไรมา

3.อาบน้ำบ่อยครั้ง และใช้เวลาอาบน้ำนานในแต่ละครั้ง เช่นหลายสิบนาทีหรือเป็นชั่วโมง รวมถึงการอาบน้ำซ้ำ อาบแล้วอาบอีกทั้งที่ไม่ได้ออกไปไหนนอกบ้านหรือไม่ได้ทำกิจกรรมหนักอะไรจนมีเหงื่อไคลไหล แต่เป็นเพราะวิตกกังวลไปเอง

4.รังเกียจในการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่น ทั้งที่เป็นสิ่งของสาธารณะหรือสิ่งของของตนเองที่ผู้อื่นมาสัมผัสถูกต้อง และจะรีบทำความสะอาดทันทีหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่สะดวกใจต่อการไปในที่สาธารณะ การใช้รถโดยสารสาธารณะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะรังเกียจอย่างมากในการใช้ห้องน้ำสาธารณะ

ซึ่ง 4 อาการที่กล่าวไปนี้ ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ผู้ป่วยอาการ Mysophobia มีความยากลำบากในชีวิตประจำวัน และมักจะเลือกปลีกตัวออกจากผู้อื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใช้ของร่วมกัน จนอาจกระทบถึงความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่สมาชิกในครอบครัว แต่โรคกลัวความสกปรก หรือ Mysophobia เป็นโฟเบียที่สามารถรักษาให้หายได้ โดยวิธีการพฤติกรรมบำบัดเช่นเดียวกับโรคโฟเบียอื่น ๆ ฝึกให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับความกลัวของตนเองแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งวิธีการพฤติกรรมบำบัดจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วยเป็นอย่างมากด้วย ทั้งนี้ อาจต้องใช้ยาจำพวกยาแก้โรคซึมเศร้า ยาระงับอาการสั่น ยาลดความวิตกกังวล หรือให้ยาแก้โรคจิตเวชบางชนิดควบคู่ไปด้วยในการรักษา เพื่อลดความกลัวและให้ผู้ป่วยเกิดความกล้าในการฝึกพฤติกรรมบำบัด

การระบาดของ COVID-19 แม้จะมีสถานการณ์ดีขึ้น แต่ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน รูปแบบการใช้ชีวิตก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบ new normal “ความปกติรูปแบบใหม่”ซึ่งก็เน้นการรักษาความสะอาดและเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างเคร่งครัด พฤติกรรมรักษาความสะอาดอาจจะแยกความแตกต่างได้ยากแต่ก็ขอให้ลองสังเกตตัวเองและคนรอบข้างว่าพฤติกรรมเข้าข่ายอาการ Mysophobia หรือไม่ ถ้าใช่ ก็ควรปรึกษาแพทย์ ทั้งนี้ ก็เพื่อสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตของคนเหล่านั้นหรือของตัวท่านเอง.

(ภาพประกอบ :undepress.net)

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2