• 27 กุมภาพันธ์ 2020 at 11:53

PM2.5 

ปีนี้หมดเวลารอปีหน้ามาป่วนใหม่

“ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะค่อยๆ ลดลงตามสภาพอากาศของฤดูกาล แต่ก็จะกลับมาอีกในช่วงปลายปีเป็นวงรอบ นอกจากมาตรการต่างๆ ในการแก้ปัญหาจากภาครัฐจะได้ผล....”

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่าน AUTOVISION & TRAVEL และแฟนๆ UNSEEN DOCTOR ที่เคารพทุกๆ ท่าน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส SAR-CoV-2 (ชื่อทางการที่ถูกต้องของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019) เมื่อช่วงต้นปี ส่งผลให้คนไทยมองเห็นความสำคัญของการใช้หน้ากากอนามัยกันมากขึ้น ภาพคนสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะกลายเป็นภาพที่ชินตาภายในเวลาอันสั้น และเมื่อสถานการณ์ความขาดแคลนหน้ากากอนามัยคลี่คลายลง แต่บรรยากาศของกรุงเทพฯและอีกหลายจังหวัดยังขุ่นมัวไปด้วยฝุ่นควันอย่างน่าสะพรึง หน้ากากอนามัยระดับมาตรฐาน N95 ก็ทำท่าว่าจะกลายเป็นของหายากอีกแล้ว

ฝุ่น PM 2.5 (Particle matter smaller than 2.5 micron) คือสิ่งปนเปื้อนในอากาศที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผม ซึ่งเป็นขนาดที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เป็นฝุ่นที่มาจากการเผาในที่โล่ง กระบวนการผลิตไฟฟ้า กระบวนการภาคอุตสาหกรรม ฝุ่นจากการก่อสร้าง ไอเสียจากเครื่องยนต์สันดาปภายใน(ดีเซล) เป็นต้น เป็นที่เกาะของอนุภาคสารก่อมะเร็งต่างๆ ได้แก่ สารปรอท (Hg), แคดเมียม (Cd), อาร์เซนิก (As) หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ซึ่งดูเหมือนว่าปี 2563 นี้ มาตรการแจ้งเตือนหรือแก้ไขปัญหาจากภาครัฐดูจะเนือยๆ ไม่ตื่นตัวเท่าที่ควรจะเป็นทั้งที่มีเวลาให้คิดอ่านล่วงหน้านานมาก กระทั่งมาโดนกระแสข่าวเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มากลบเสียเกือบหมด

ตามปกติฝุ่นที่เกิดขึ้นและสะสมอยู่ในแต่ละวันจะลอยตัวสูงขึ้นไปในช่วงกลางวันที่อุณหภูมิสูง แต่เนื่องจากมีการผันผวนของฤดูกาล อากาศที่เย็นค่อนข้างสงบนิ่งแม้จะเป็นเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ทำให้ฝุ่นยังคงแขวนลอยอยู่ในอากาศไม่ได้ถูกพัดพาไปไหน และด้วยความหนาแน่นของฝุ่นจึงทำให้มองเห็นคล้ายหมอกขุ่นมัวไปทั่วตามที่ได้เห็นกันฝุ่นเหล่านี้จะสะสมจากช่วงเวลากลางวันจนหนาแน่นมากที่สุดในช่วงเย็นของแต่ละวัน โดยขนาดที่เล็กของมันจึงสามารถเล็ดลอดผ่านขนจมูกซึ่งมีหน้าที่เป็นหน้าด่านกรองฝุ่นต่างๆ ไม่ให้เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ

เมื่อหายใจฝุ่น PM 2.5 เข้าไปมากๆ ก็จะกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ลดระบบแอนตี้ออกซิแดนซ์ กระตุ้นการหลั่งสารอักเสบ เกิดอาการกำเริบของโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังในผู้ที่มีอาการอยู่แล้ว เช่นหอบหืด ถุงลมโป่งพอง ภูมิแพ้ กระตุ้นให้เกิดเกิดอาการกำเริบของโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ทั้งนี้ เป็นผลจากสารอันตรายต่างๆ รวมทั้งโลหะหนักที่จับอยู่ในผิวฝุ่นนั่นเอง โดยเมื่อได้รับฝุ่นในระยะแรกๆ นั้น จะไม่มีอาการอะไร แต่เมื่อยังได้รับฝุ่น PM 2.5 อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการป้องกัน เช่น 3-4 วัน ก็จะเริ่มมีอาการ ช้า-เร็ว ตามปริมาณฝุ่นที่ได้รับ ได้แก่ รู้สึกแสบคอ จาม น้ำมูกไหล มีเลือดออกจากเส้นเลือดฝอยในโพรงจมูก คันตามผิวหนัง เกิดผื่นคันแบบลมพิษ เคืองตา เป็นต้น ในระยะยาวก็คือการทำงานของปอดถดถอย ยับยั้งการพัฒนาของถุงลมปอดในเด็กเล็กที่ปอดยังไม่เจริญเต็มที่หรือแม้แต่ทารกในครรภ์มารดา สุดท้ายคือมะเร็งปอด เกิดการเจ็บป่วยจากการสะสมของปรอท แคดเมี่ยม และตะกั่ว ที่หายใจเข้าไปพร้อมกับฝุ่น ทั้งนี้ ในส่วนของตะกั่วยังสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังได้ด้วยนอกเหนือจากที่หายใจเข้าไปและการปนเปื้อนในอาหาร

แนวทางป้องกันที่ทำได้ก็คือการใส่หน้ากากอนามัยมาตรฐาน N95 ที่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ เมื่อต้องอยู่กลางแจ้งหรือในพื้นที่ที่มีฝุ่น ควบคู่ไปกับการตรวจสอบสภาพอากาศในพื้นที่นั้นๆอย่างสม่ำเสมอจากแอพพลิเคชั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศที่สามารถเลือกติดตั้งในโทรศัพท์มือถือได้อย่างสะดวกหรือจากเครื่องตรวจวัดสภาพอากาศแบบพกพาติดตัวซึ่งก็หาซื้อได้ไม่ยาก ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้ ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะค่อยๆ ลดลงตามสภาพอากาศของฤดูกาล แต่ก็จะกลับมาอีกในช่วงปลายปีเป็นวงรอบ นอกเสียจากว่ามาตรการต่างๆ ในการแก้ปัญหาจากภาครัฐจะได้ผล

อาการป่วยจากการฝุ่น PM 2.5 จะไม่แสดงให้เห็นในทันทีทันใดนอกจากผู้ป่วยโรคภูมิแพ้และผู้ที่มีอาการของโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังอยู่ก่อน แต่ในระยะยาวแล้วก็จะแสดงอาการในผู้ที่ละเลยการป้องกันตนเองในวันนี้อย่างแน่นอน.

Photo Credit : JS 100 radio

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2