• 29 มิถุนายน 2018 at 12:17

ทำไมต้องจดประกอบ?

                ย้อนกลับไปเมื่อครั้งรถหรู 4 คัน นำขบวนโดย เบนท์ลี่ย์,เฟอร์รารี่,บีเอ็มดับเบิ้ลยู,แลมโบกินี่ ถูกไฟไหม้แถวกลางดง ถนนมิตรภาพ กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตเมื่อสืบค้นถึงที่มาของรถเหล่านั้น รวมถึงสาเหตุการเกิดไฟลุกไหม้คงไม่ใช่เรื่องธรรมดาเหมือนรถติดแก๊สทั่วไปขับอยู่ดีแล้วไฟลุกขึ้นมาเองได้

                และในที่สุดประเด็นสำคัญหลังไฟดับลง “รถทั้งสี่คันคือรถจดประกอบ” แล้วทำไมมันถึงไปโผล่ยู่แถวสายอีสาน?

                หลังเรื่องดังกล่าวถูกขุดแบบลงลึกถึงราก ดูเหมือนว่าเปลวไฟไม่ได้เผาแค่รถสี่คัน มันกำลังจะเผาผลาญเหล่าบรรดารถจดประกอบเข้าให้เสียด้วย แท้จริงแล้วเรื่องการจดประกอบรถแล้วนำมาขายไม่น่าจะเป็นเรื่องใหม่เพราะหลายคนจะคงเคยได้ยินกัน จนบางครั้งลืมไปเสียด้วยซ้ำว่ามันเป็นการเอาเปรียบรัฐบาล เมื่อเรื่องแดงขึ้นทำให้เจ้าของต้องหันไปมองรถที่ตัวครอบครองอยู่ แท้จริงแล้วมันคือหนึ่งในนั้นหรือเปล่า การจดประกอบคือการที่นำรถยี่ห้อต่างๆ จากต่างประเทศที่สำคัญต้องเป็นประเทศที่ใช้พวงมาลัยขวาเหมือนกัน มาแยกชิ้นส่วนแล้วส่งเข้ามาในรูปแบบของอะไหล่ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้เสียภาษีถูกลง แต่ทั้งหมดจะไม่ส่งมาในเรือลำเดียวกันจะใช้วิธีทยอยส่งเข้ามา ก่อนหน้านี้เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2553-2554 สามารถนำเอาโครงตัวถัง (Chassis) เข้ามาได้ด้วยจึงทำให้ง่ายยิ่งขึ้นในการประกอบรถขึ้นมาใหม่ สองปีดังกล่าวนั้นถือเป็นช่วงที่นิยมทำกันมากทำให้รถประเภทนี้ทะลักเข้ามาจำนวนมาก ประกอบแล้วจะเหมือนเดิมหรือเปล่า? บางคนสงสัยเรื่องพวกนี้ ถ้าเป็นรถญี่ปุ่นหรือไม่ถึงขั้น ซูเปอร์คาร์คงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ช่างไทยสามารถอยู่แล้ว แต่พอมันเป็นพวกระดับพรีเมี่ยมปัญหาน่าจะเยอะ ส่วนใหญ่รถพวกนี้อาจเข้ามาทั้งคัน แต่ถอดแยกอะไหล่บางชิ้นออกเพื่อให้เป็นการแยกอะไหล่เข้ามาหรือเปล่า?

                 ด้วยเหตุดังกล่าวจึงส่งผลให้เวลาต่อมาปี พ.ศ.2555 กระทรวงพาณิชย์ต้องออกประกาศห้ามนำโครงตัวถังรถ (Chassis) เข้ามาในประเทศ นับเป็นการสกัดได้ขั้นหนึ่งแต่ถึงอย่างไรก่อนหน้านั้นโครงตัวถังต่างๆ คงมีเข้ามาแล้วจำนวนมาก และเชื่อว่าของเก่าคงยังไม่หมดแน่นอน

                 ส่วนรถหรูที่ไฟไหม้ถึงมีถังแก๊สอยู่ในรถ...ส่วนหนึ่งหากมองกันในหลักความเป็นจริงแล้วมันน่าคิดอยู่ไม่น้อย รถพวกนี้เป็นรถที่มีเครื่องยนต์สมรรถนะสูงเชื้อเพลิงที่ใช้ย่อมต้องมีคุณสมบัติสูงเพื่อให้การทำงานเต็มประสิทธิภาพ แท็กซี่ใช้แก๊สวิ่งบางครั้งยังมีปัญหา คิดง่ายๆ ไม่ต้องคิดเยอะ ถึงมันจะติดได้จริงก็คงไม่มีเจ้าของคนไหนเขาทำกัน ขับระดับนี้เลี้ยวเข้าปั๊มแก๊สคงต้องมีอายกันบ้าง มองกันอีกมุมคนซื้อรถระดับนี้คงไม่สะเทือน เรื่องเงินในกระเป๋า เมื่อต้องเติมน้ำมัน

                 ลองมองดูถึงต้นเหตุและลองหาข้อมูลดูจึงทำให้ทราบถึงที่มาของรถหรูติดแก๊ส เมื่อลองนั่งจัดลำดับตามแหล่งข้อมูลต่างๆ เรียงลำดับลงตั้งแต่เริ่มต้นคืออันดับแรกเป็นการนำเข้ารถแยกชิ้นมาก่อนผ่านช่องทางไดก็ตามความถนัดและคุ้นเคยของแต่ละคน จากนั้นก็นำมาประกอบขึ้นเป็นคันต้องได้มาตรฐานมีความแข็งแรงปลอดภัยจริงซึ่งตรงนี้ไม่ค่อยมีปัญหามากนัก เมื่อประกอบเสร็จแล้วก็ต้องมีการรับรองจากวิศวกรที่ได้รับการอนุญาตแล้ว ถัดมาก็เป็นการเสียภาษีกับพื้นที่สรรพสามิตถ้าถูกต้องทั้งหมดภาษีก็จะอยู่ราว 30% ราคาประเมิน ถ้ารถราคาประมาณ 20 ล้านภาษีก็อยู่ที่ 6 ล้านบาท ถือว่าค่อนข้างสูง เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยถึงขั้นตอนหินสุด “ขอจดทะเบียน” ซึ่งต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานค่าสารมลพิษ เสียก่อนไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้ เท่าที่ทราบมาเขาคิดกันครั้งหนึ่งเป็นแสนถ้าผ่านก็ไม่มีปัญหาถ้าไม่ผ่านเงินก็สูญแถมยังต้องมาตรวจกันใหม่จึงทำให้เกิดการกลัวมากสำหรับใครที่คิดจะนำรถเข้าไปตรวจ ขณะเดียวกันถ้าเป็นรถที่ติดตั้งเชื้อเพลิงก๊าซปิโตเลียมเหลวก็ขอแค่เพียงถ่ายภาพการติดตั้งมาพร้อมรูปช่าง แล้ววิศวกรเซ็นรับรองความปลอดภัย เท่านั้นก็เรียบร้อยจดทะเบียนก็เป็นรถติดก๊าซ ไปเท่านั้น นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้รถหรูทั้งสี่คันมีถังก๊าซติดอยู่ท้ายรถ ส่วนวิธีการจะทำเช่นไรคงไม่ขอลงรายละเอียด

                หลังจากรถผ่านการจดทะเบียนแล้วก็จะทิ้งไว้สักหน่อยพอใจเย็นก็กลับไปเปลี่ยนกลับว่ารถได้ใช้ระบบน้ำมันเบนซินแล้ว เขาก็แก้ไขให้ เมื่อเรียบร้อยก็มีการแจ้งหายอีกครั้งเพื่อเปลี่ยนสมุดใหม่ เพียงเท่านี้ก็กลายเป็นรถใหม่ขายได้ตามปกติ

                ปัญหานี้ถ้าใครเคยไปซื้อรถจากร้านนำเข้ามาแบบถูกกฎหมายจ่ายภาษีตรงไม่มีอ้อมคงไม่มีปัญหาอะไร ถ้าใครบังเอิญแจ็คพอตเจอรถประเภทหลบเลี่ยงซิกแซกเป็นที่หนึ่งเข้าให้คงต้องทำใจกันสักนิด จากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์เห็นเขาบอกกันว่าขบวนการนี้ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากเงินภาษีแบบถูกต้อง ปีละไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท ถือว่าไม่น้อยเลยนะ คิดแล้วเชียวว่าทำไมรถหรูถึงมีถังก๊าซที่แท้ไม่ชอบกินแค่ชอบดม กำไรมันเยอะนี่เอง จากรถสี่คันกำลังจะนำไปถึงคราวสิ้นสุดของรถจดประกอบอีกหลายร้อยคันหรือเปล่า เรื่องนี้คงต้องติดตามกันต่อไป.

Story: Black Man

Photo : http://wallpapercave.com/

 

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2